[HOW TO#2] Live STREAM101
Updated: Jan 12
ทักทายชาว Kreative Friends!

สวัสดีครับ Boby26 กลับมาอีกครั้งตามสัญญา วันนี้เราจะมาต่อกันกับ "โปรแกรมสำหรับการ Live-Stream" กันครับผม
ในการไลฟ์สตรีมนั้นสิ่งที่สำคัญมากพอ ๆ กับไอเดียที่สดใหม่ก็คือเครื่องมือที่คุณต้องการเพื่อสร้างสรรค์ไอเดียที่ว่านั้น ซึ่งถ้าหากการเลือกแพลตฟอร์มเหมือนการเลือกฐานที่มั่น การเลือก Content เหมือนการเลือกอาวุธ การเลือกโปรแกรมสำหรับไลฟ์ก็เหมือนกับการเลือกช่างตีเหล็กมากความสามารถที่จะปรับแต่งหน้าตาและประสิทธิภาพผลงานโดยรวมของเราให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นนั่นเอง
OBS
Open Broadcaster Software หรือ OBS ที่หลายคนน่าจะคุ้นชินนั้น เป็นโปรแกรมที่เหมาะทั้งการใช้งานในรูปแบบของการอัดวิดีโอและการไลฟ์สตรีม ซึ่งตัวโปรแกรมสามารถที่จะอัดการกระทำต่าง ๆ บนหน้าจอรวมถึงอุปกรณ์เสริมต่างๆเช่นกล้อง Webcam ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถใช้งานได้ทั้งระบบ Windows, MacOS ไปจนถึงระบบ Linux นับว่าเป็นโปรแกรมที่ใช้งานได้ครอบคลุมอย่างมาก และด้วยความใช้งานง่ายนี้เอง OBS จึงเป็นตัวเลือกแรก ๆ ที่เหมาะสมสำหรับการสร้าง Content ของเหล่า Creator เลยล่ะ
Streamlabs
Streamlabs นั้นเรียกได้ว่าเป็นโปรแกรมที่มีฟีเจอร์สำหรับการไลฟ์สตรีมที่หลากหลายเป็นอย่างมากไม่ว่าจะเป็น การแจ้งเตือนขึ้นบนหน้าไลฟ์สตรีม การปรับแต่งธีมโดยรวมของช่อง การปรับแต่งหน้าต่างต่าง ๆ ที่เรียกได้ว่าละเอียดถึงขั้นผู้ใช้งานหากมีความรู้เรื่องการเขียนโปรแกรมแล้ว สามารถที่จะเขียนแก้ไขโค้ดบางส่วนของตัวโปรแกรมฟีเจอร์ต่างๆได้เองเลยทีเดียว นอกจากนั้นการยังสามารถเชื่อมต่อเข้ากับบัญชี Youtube, Twitch, Facebook เพื่อรับการซัพพอร์ตจากทางทีมงานได้โดยตรงอีกด้วย นับว่าเป็นอีกตัวเลือกที่ดีสำหรับ Creator ทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่าเลยทีเดียว
ซึ่งในการสอนครั้งนี้ ผมได้เลือก Streamlabs ในการไลฟ์สตรีมนะครับ
การสมัครใช้งาน Streamlab
เมื่อเข้าไปยังหน้า Login ของตัวเว็บไซต์ ซึ่งจะสามารถ Login ด้วย Streamlabs ID หรือ Login ด้วย ID ของแพลตฟอร์มที่เราได้เลือกใช้งานก็ได้ โดยผมแนะนำว่าให้ทำการ Login ด้วย ID แพลตฟอร์มจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดเนื่องจาก ภายในเว็บไซต์นั้นมีการปรับแต่งมากมาย เช่น ธีม การแจ้งเตือน ซึ่งหากเรา Login ด้วยแพลตฟอร์มนั้นจะช่วยลดความยุ่งยากในการตั้งค่าต่าง ๆ ได้อย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องของการแจ้งเตือนแบบขึ้นหน้าจอระหว่างไลฟ์สตรีม
การเพิ่มองค์ประกอบต่างๆบนหน้าจอ
ต่อมาเราจะมาพูดกันถึงเรื่องการเพิ่มองค์ประกอบลงบนหน้าไลฟ์สตรีมกัน โดยเริ่มแรกให้ทำการกดปุ่ม + ข้างคำว่า Sources เมื่อเปิดขึ้นมาจะพบว่ามีตัวเลือกมากมายให้ได้ลองเล่นไม่ว่าจะเป็น Webcam, Display, Browser ซึ่งเราจะมาพูดกันในเรื่องที่สำคัญก่อนนั่นก็คือเกี่ยวกับสิ่งที่เราต้องการนำเสนอ

อันนี้คือหน้าตาของโปรแกรมนะครับ
โปรแกรมที่ต้องการถ่ายทอด
โดยจะเลือกใช้ได้สองแบบ คือแบบแรกการใช้ Display ซึ่งโปรแกรมจะทำการจับภาพหน้าจอทั้งหมด โดยไม่สนว่าจะเปิดโปรแกรมใดไว้บ้าง ซึ่งบางทีข้อมูลละเอียดอ่อนเช่นการชำระเงินต่าง ๆ อาจจะติดเข้ามาด้วยผมจึงไม่แนะนำวิธีนี้เท่าไหร่ ยกเว้นในกรณีที่โปรแกรมที่ต้องการจับภาพไม่สามารถจับโดยเฉพาะได้ ตัวเลือกที่สองคือการจับภาพเฉพาะโปรแกรมนั้น โดยจะใช้เป็น Program แทน ซึ่งการใช้ Program นั้นจะทำการจับภาโปรแกรมนั้น ๆ เพียงอย่างเดียว ต่อให้โปรแกรมที่เราจับภาพอยู่จะถูโปรแกรมอื่นบัง ภาพที่ถ่ายทอดออกไปก็จะมีเพียงโปรแกรมที่เราต้องการเท่านั้น
เสียงภายในเครื่อง
ในกรณีที่ต้องการจะให้เสียงภายในเครื่องไม่ว่าจะเป็น เสียงเกม เสียงเพลง นั้นถ่ายทอดออกไปพร้อมกันนั้นสามารถทำได้โดยการเพิ่ม Audio Output Capture ซึ่งจะทำการจับเสียงทั้งหมดที่ออกมาจากลำโพงหรือหูฟังที่ได้ตั้งค่าไว้และทำการถ่านทอดออกไปในการไลฟ์สตรีมได้ ซึ่งเราสามารถที่จะปรับแต่ตัวเสียงต่าง ๆ ผ่าน Flitter ที่โปรแกรมเตรียมไว้ให้ได้
เสียงภายนอกเครื่อง
แน่นอนคือเสียงจากไมค์นั่นเองโดยสามารถเพิ่มได้โดยการเลือก Audio Input Capture ซึ่งจะสามารถปรับแต่ได้อย่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็น Noise suppresser ที่จะทำการตัดเสียงรบกวนออกไป Gain สำหรับขยายขอบเขตของตัวรับเสียงให้สามารถรับเสียงได้มากขึ้นเหมาะเป็นอย่างมากสำหรับคนที่เสียงค่อนข้างเบา หรือรวมไปถึงการจำกัด Limit ของเสียงไม่ให้ดังไปมากกว่าค่าที่ได้กำหนดไว้ เรียกว่าปรับแต่งเสียงอย่างเดียวนี่ก็อาจจะหมดวันได้เลย
การตั้งค่าเกี่ยวกับ Output หน้าจอ
ในส่วนนี้นับเป็นส่วนสำคัญของการตั้งค่าสำหรับการไลฟ์สตรีมโดยจะเข้าไปตั้งค่านั้นให้เลือกไปที่ Setting รูปเฟืองมุมซ้ายล่างของโปรแกรม Streamlabs เมื่อเข้ามาให้เลือกไปที่ Output โดยปกติจะตังค่าในโหมด Advanced เพื่อให้สามารถตั้งค่าได้ละเอียดมากขึ้น โดยจะขออธิบายเฉพาะข้อที่มีความสำคัญและเห็นผลชัดเจนแยกเป็นข้อเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจครับ

Encoder
สำหรับ Encoder นั้นก็คือระบบที่จะทำการแปลงภาพและเสียงที่เรากำลังจับอยู่เป็นข้อมูลเพื่อถ่ายทอดไปสู่ผู้ชมนั่นเอง โดยจะมีตัวเลือกหลักสองแบบคือ Software และ Hardware โดย Software นั้นจะใช้โปรแกรม Streamlab ในการเข้ารหัสทำให้มีการใช้ CPU เป็นหลัก จะเหมาะสำหรับการใช้ในคอมระดับกลางที่ GPU ไม่ได้มีประสิทธิภาพที่สูงมากนัก ในขณะที่ Hardware นั้นจะใช้ GPU ในการเข้ารหัสทำให้การใช้ CPU ลดลงเพื่อให้การทำงานโดยรวมของคอมพิวเตอร์มีความเสถียรมากขึ้น คำแนะนำของผมในส่วนนี้คือในกรณีที่คอมพิวเตอร์ของเรานั้นไม่ได้มี GPU ที่ประสิทธิภาพสูงมากนั้นการเลือกใช้ Software จะช่วยให้ GPU ไม่รับภาระหนักจนเกินไปและแสดงประสิทธิภาพในการสร้างภาพได้อย่างเต็มที่ กลับกันหากมีคอมพิวเตอร์ที่แระสิทธิภาพสูงมากพออาจจะใช้เป็น Hardware เพื่อให้ CPU ได้ลดภาระการ Encoder เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโดยรวมของโปรแกรมต่าง ๆ ที่เรากำลังใช้อยู่
Rate Control
เป็นหัวข้อเกี่ยวกับการควมคุม Bit Rate ของการไลฟ์สตรีมหรือการอัดวิดีโอนั้น ๆ โดยจะแบ่งได้หลายแบบ แต่ปกติแล้วจะใช้กันเป็นหลักคือ CBR หรือ VBR
CBR จะเป็นการควบคุม Bit Rate ให้คงที่ไว้เสมอ ซึ่งจะเห็นผลได้ชัดเจนในกรณีที่ภาพมีความซับซ้อนมาก ทำให้ในกรณีที่ปรับค่าไว้สูงเกินไปจะทำให้ไฟล์มีขนาดที่ใหญ่มากขึ้นและหากตั้งค่าไว้น้อยเกินไปคุณภาพของวิดีโอนั้นก็จะแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด
VBR จะเป็นการควบคุมแบบปรับไปตามความซับซ้อนและโครงสร้างของวิดีโอนั้น ซึ่งขณะที่ภาพไม่มีความซับซ้อน Bit Rate ที่ใช้จะลดลงและหากภาพซับซ้อนมากขึ้นการใช้ Bit Rate ก็จะมากขึ้น
Bitrate
คือประมาณของข้อมูลที่จะทำการส่งออกไปจากคอมพิวเตอร์ของเรา ซึ่งในคอมพิวเตอร์ระดับกลางตั้งค่าไว้ที่ 4000 - 6000 ก็เพียงพอต่อการไลฟ์สตรีมแบบ 1080p แล้ว แต่ในกรณีที่คอมพิวเตอร์เครื่องนั้นแรงมากก็สามารถที่จะตั้งไว้สูงกว่านั้นได้
Preset
เป็นการตั้งค่าให้โปรแกรมเลือกประสิทธิภาพโดยรวมของการทำงานของตัวโปรแกรมเอง โดยในคอมระดับกลางอาจจะเลือกเป็น Performance หรือ Low Latency เพื่อให้คอมพิวเตอร์ไม่รับภาระหนักจนเกินไปและสำหรับคอมพิวเตอร์ระดับสูงอาจจะเลือกเป็น Quality หรือ Max Quality เพื่อคุณภาพสูงสุดของวิดีโอ
การทำงานรวมกับโปรแกรมและเว็บอื่น ๆ
โดยผมจะขอยกตัวอย่างเป็นบริการของ Tipme บริการรับโดเนทสำหรับ Creator ที่อาจจะยังไม่มีชื่อเสียงมากนักหรือยังไม่ผ่านเงื่อนไขการสร้างรายได้จากแพลตฟอร์มนั้น ๆ โดยระบบของ Tipme นั้นสามารที่จะให้โปรแกรมแจ้งเตือนและอ่านข้อความของผู้โดเนทได้ เรียกได้ว่าเป็นประโยชน์มากสำหรับ Content creator หน้าใหม่ โดยการทำงานร่วมกับเว็บไซต์ Tipme นั้นสามารถทำได้โดยการเลือกเพิ่ม Browser Source เข้ามาใน Scene จากนั้นให้ทำการ Copy ลิงค์ที่ทาง Tipme เตรียมไว้และนำมาวางในตัว Browser Source ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อยพร้อมรับโดเนทกันได้เลย
ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นและการแก้ไขในขั้นตอนนี้
การแจ้งเตือนขึ้นหน้าจอไม่ขึ้น
เป็นปัญหาที่ Creator หน้าใหม่กุมขมับกันมาหลายคนเลยทีเดียว โดยตัวปัญหานั้นแบ่งได้สองข้อ ข้อแรกคือการวาง Layer ของ Sources โดยถ้าเราต้องการให้การแจ้งเตือนขึ้นที่หน้าจอ ให้เราทำการเลื่อน Layer ของการแจ้งเตือนนั้นมาไว้ข้างบนสุดเท่านี้ก็เรียบร้อย ข้อต่อมาคือลิงค์ของตัวเว็บไซต์นั้น ๆ อาจจะเกิดความเสียหาย ให้ทำการขอลิงค์ใหม่จากทางเว็บไซต์และนำม่วางใน Browser Source ใหม่ก็จะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้
รายละเอียดอาจจะเยอะสักหน่อย แต่ถ้าช่วยให้เพื่อน ๆ เข้าใจและนำไปทำตามได้ง่าย ผมก็ดีใจมากเลยครับ :))
ต่อไป ผมก็มี Tips แนะนำในการใช้งานเพิ่มเติมมาฝากเพื่อน ๆ ด้วยครับ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ให้ได้ครับผม
การใช้เพลง
สำหรับการไลฟ์สตรีมนั้นหากไร้ซึ่งเสียงเพลงไลฟ์นั้นคงจะน่าเบื่อน่าดูใช่ไหมครับ แต่ในหลาย ๆ แพลทฟอร์มการใช้เพลงเองก็มีข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์ที่เข้มงวดเหลือเกิน ซึ่งบางครั้งอาจจะสร้างปัญหาที่รุนแรงถึงขั้นช่องโดนปิดกันเลยทีเดียว สำหรับใครที่กำลังกุมขมับกับการหาเพลงใช้ระหว่างไลฟ์ไม่ได้ผมมีวิธีแก้ไขปัญหานี้มาแนะนำกันครับ วิธีการแรกเลยก็คือการใช้เพลงที่ Youtube จัดหาไว้ให้นั่นเอง โดยเพียงแค่เข้าไปยังหน้า Youtube Studio และกดไปยังหัวข้อ คลังเพลงและเสียง ซึ่งในหน้านี้สามารถที่จะเลือกหรือกรองได้ทั้ง อารมณ์ แนวเพลง ศิลปิน ไปจนถึงความยาวของเพลงกันเลยทีเดียว แต่ถ้าหากใครคิดว่าเพลงของ Youtube ไม่ค่อยถูกใจหรือเพลงมีน้อยจนเกินไปเรามาดูวิธีถัดมากันดีกว่า วิธีที่ว่านี้ก็คือการใช้บริการผู้ให้บริการเกี่ยวกับเพลงโดยเฉพาะ เช่น Epidemic Sound ซึ่งจะใช้หลักการในการเช่าลิขสิทธิ์ของเพลงและเสียงประกอบต่างๆที่ผู้ให้บริการได้ทำการถือครองอยู่นั่นเองครับผม โดยจะมีทั้งแบบรายเดือนไปจนถึงเหมารายปีกันเลยทีเดียวซึ่งก็จะมีหลายแพคเกจหลายราคาให้เลือกใช้งานได้ตามที่ชอบเลย โดยบางแพคเกจนั้นคิดราคาเฉลี่ยออกมาต่อวันเพียงแค่ 10 บาทเท่านั้นเองเรียกได้ว่าคุ้มสุด ๆ ไปเลยนะเนี่ย
การอ่านแชตระหว่างไลฟ์สตรีม
สำหรับการอ่านแชทระหว่างการไลฟ์สตรีมนั้นในบางครั้งอาจจะเกิดความหน่วงของแชทจากโปรแกรมสำหรับการไลฟ์อย่าง Streamlab กับ Youtube ได้ ในกรณีนี้การเปิดหน้า Analysis ไว้ตรงด้านขวาของหน้านี้จะมีช่องแชทที่มีความสเถียรและเรียลไทม์มากกว่า จึงจะเป็นกรสะดวกกว่าถ้าจะอ่านช่องแชทจากหน้าต่างนี้
การไลฟ์สตรีมไม่เสถียร
ในการไลฟ์สตรีมนั้นสิ่งที่สำคัญเป็นอันดับแรกๆเลยคือเครือข่ายของอินเทอร์เน็ตที่มีค่าการอัพโหลดที่มากพอสำหรับการยิงสัญญาณจากคอมพิวเตอร์ของเราเพื่อทำการถ่ายทอดภาพของเราไปยังผู้ชมที่อยู่ทุกที่ทั่วโลก ซึ่งปัญหาที่ทำให้เหล่า Creator ถึงกับน้ำตาไหลเป็นเลือดกันมานักต่อนักก็คืออินเทอร์เน็ตหลุดระหว่างการไลฟ์สตรีมหรือที่ฝั่งผู้ชมมักจะพูดกันติดปากว่า หมุน หรือ บิน นั่นเอง ซึ่งเราสามารถที่จะแบ่งปัญหานี้ได้สองข้อใหญ่ นั่นก็คือหนึ่ง ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และสอง การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต โดยหากเป็นปัญหาในข้อแรกให้ทุกคนลองเช็คดูก่อนว่าในพื้นที่อยู่อาศัยของตัวเองนั้นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเจ้าไหนสามารถปล่อยสัญญาณได้เสถียรที่สุดค่อยติดต่อใช้บริการ และสำหรับปัญหาจากข้อถัดมาผมเชื่อว่าหลายคนใช้การเชื่อมต่อเครือข่าย Wifi ในการเชื่อมต่อซึ่งปัญหาส่วนใหญ่จะมาจากการที่ Wifi ล่มลงไปทำให้อินเทอร์เน็ตหลุดไปพร้อมกันผมจึงมีแนะนำสองทางสำหรับการแก้ไขปัญหานี้
ข้อแรก คือลองเปลี่ยนการเชื่อมต่อเป็นการใช้สาย LAN เนื่องจากการเชื่อมต่อด้วยสาย LAN นั้นให้ความเสถียรของอินเทอร์เน็ตที่มากกว่า Wifi ซึ่งจะช่วยเรื่องความเสถียรของอินเทอร์เน็ตได้ในระดับหนึ่ง
ข้อสอง นั้นจะเป็นวิธีที่เพิ่มค่าใช้จ่ายมากขึ้นแต่เป็นทางที่ Creator ที่ใช้การไลฟ์สตรีมเป็นการสร้างรายได้หลักใช้อย่างกว้างขวาง ก็คือการสมัครอินเทอร์เน็ตสองเครื่อข่าย โดยประโยชน์ที่จะได้รับเลยก็คือในกรณีที่อินเทอร์เน็ตของเจ้าหนึ่งล่มไปก็ยังคงมีอีกตัวรองรับ ซึ่งกรณีที่ทั้งสองเครือข่ายจะล่มไปพร้อมกันนั้นถือว่าเกิดได้ค่อนข้างยากเลยทีเดียว
เสียงกระทบของโต๊ะเข้าไมค์
เคยไหมครับตั้งค่าทั้งตัวไมค์ทั้งโปรแกรมให้ตัดเสียงรบกวนอย่างดีแต่พอไลฟ์หรืออัดวีดิโอจริงดันมีเสียงเคาะของโต๊ะอยู่ในวีดิโอของเราซะอย่างนั้น สาเหตุของเจ้าเสียงนี้จริงๆแล้วมาจากการกระทบและการสั่นสะเทือนของตัวโต๊ะนั่นเองครับ วิธีแก้ไขที่ผมแนะนำได้เลยก็คือวิธีแรกพยามตั้งค่าตัดเสียงรบกวนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือหากยังไงเจ้าเสียงนี้ก็ยังไม่หายเราอาจจะต้องพึ่งอุปกรณ์กันแล้วล่ะ ซึ่งก็คือการใช้ขาต่อไมค์นั่นเอง ซึ่งขาต่อไมค์ที่ผมพูดถึงนี้แค่ใช้เพียงแค่ขาต่อไมค์ราคาย่อมเยาว์จากเว็บช็อปปิ้งออนไลน์ทั่วไปก็สามารถแก้ปัญหานี้ได้แล้วครับ ซึ่งตัวขาต่อและตัวไมค์ที่มีขนาดมาตรฐานนั้นสามารถต่อกันได้อย่างไม่มีปัญหาแน่นอน โดยวิธีการง่าย ๆ ก็คือพยายามติดขาตั้งไมค์ให้ห่างจากโซนที่เราใช้ทำงานเป็นประจำ เช่น เมาส์ คีย์บอร์ด เมาส์ปากกา แล้วจัดการบิดข้อต่อของขาต่อไมค์ให้ตัวไมค์โน้มมาที่ปากของเราโดยที่ตัวของไมค์นั้นลอยอยู่ห่างจากพื้นโต๊ะนั่นเอง ยิ่งขาไมค์ที่ราคาสูงหน่อยหรือออกแบบมาอย่างดีนี่สามารถดัดล็อคได้หลายทิศหลายมุมเลยนะ นับว่าสะดวกในการจัดพื้นที่ทำงานอย่างมาก ง่าย ๆ แค่นี้ก็บอกลาเสียงกระทบของโต๊ะได้เลย
เป็นยังไงกันบ้างครับ How To Live-Stream สำหรับเพื่อน ๆ นักวาดที่ริเริ่มอยากเพิ่มช่องทางในการติดตาม หวังว่าจะช่วยเพื่อน ๆ ได้ไม่มากก็น้อยนะครับ
ก่อนจากกัน ผมขออนุญาตโปรโมตช่องทางในการติดตามผลงานของผมด้วยนะครับ 😂
► Youtube : https://www.youtube.com/@boby26
► FB Page : https://www.facebook.com/Boby26channel
► Twitter : https://twitter.com/Boby26Channel
► DeviantArt : https://www.deviantart.com/iboby26i
► Pixiv : https://www.pixiv.net/en/users/76200551
ไว้พบกันใหม่โอกาสหน้านะครับ
😻KP Learning Space|🔴Boby26
Explore the Artist in you.